ประวัติพระนิเวศน์ (สถานที่ตั้งกองเรือลำน้ำเดิม)

Release Date : 29-01-2015 12:01:47
ประวัติพระนิเวศน์ (สถานที่ตั้งกองเรือลำน้ำเดิม)

__________________________________________________________________________________________
 

พระนิเวศน์เดิม (สถานที่ตั้งกองเรือลำน้ำในปัจจุบัน)
                       พระนิเวศน์เดิมตั้งอยู่ที่ปากคลองมอญ ฝั่งธนบุรี ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในสมัยธนบุรี เดิมเป็นพระนิเวศน์ของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ ๑) หลังจากที่ทรงย้ายมาจากบ้านเดิมคือ อัมพวา เมืองสมุทรสงคราม ครั้นเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ได้เสด็จไปประทับ ณ พระบรมมหาราชวัง ทรงโปรดเกล้าฯให้พระนิเวศน์เดิมเป็นที่ประทับของพระราชโอรสองค์ที่ ๔ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่๒) ประทับอยู่จนถึง พ.ศ.๒๓๒๘ จึงย้ายไปประทับที่พระราชวังเดิม เมื่อพระนิเวศน์เดิมว่างลง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรส คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ เสด็จไปประทับต่อมาจนได้รับอุปราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในปี พ.ศ.๒๓๕๒ จึงย้ายไปประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล   กรมขุนธิเบศร์บวร พระราชโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์จึงเสด็จไปประทับที่พระนิเวศน์เดิมต่อมาจนพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์ พระโอรสของกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ประทับต่อมาจนสิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ หลังจากนั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้พระราชทานพระนิเวศน์เดิมเป็นที่ตั้งของที่ทำการทหารเรือ และขยายขอบเขตออกมาอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งาน พร้อมกันนั้นโปรดเกล้าฯ ให้สร้างกำแพงมีใบเสมาไว้เป็นเครื่องหมายให้ปรากฏเป็น   ที่ตั้งของพระนิเวศน์เดิม ส่วนอาคารที่ยังปรากฏอยู่ในสภาพปัจจุบัน คือ อาคารที่ทำการของทหารเรือที่ รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทาน ปัจจุบันพระนิเวศน์เดิมเป็นที่ตั้งของ กองเรือลำน้ำ กองเรือยุทธการ และพื้นที่บางส่วนของกรมอู่ทหารเรือ ราชนาวิกสภาโรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพ
 
 
พระนิเวศน์สถาน 
                      ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงตั้ง พระนิเวศน์สถานอยู่ตรงที่ตั้งกองเรือลำน้ำทุกวันนี้โดยสร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๑๑ เมื่อพระองค์ได้มารับราชการในกรุงธนบุรีและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นพระราชวรินทร์ เจ้ากรมตำรวจนอกขวาพร้อมกับได้รับพระราชทานที่ดินด้านเหนือของคลองมอญเพื่อสร้างที่พำนักเป็นจวนขึ้นใหม่   เดิมพระองค์มีนิเวศน์สถานอยู่บ้านอัมพวาจังหวัดสมุทรสงครามปัจจุบันอยู่ด้านหลังวัดจุฬามณีพระนิเวศน์สถานนี้ต่อมาขยายออกไปถึงอู่กำปั่น (กรมอู่ทหารเรือในปัจจุบัน) ซึ่งอยู่ติดกับเขตวัดบางว้าใหญ (วัดระฆังฯปัจจุบัน) แต่ว่าเขตวัดด้านเหนือในสมัยนั้นกล่าวกันว่าอยู่เพียงประมาณพระอุโบสถเหนือวัดบางว้าใหญ่ขึ้นไปจนถึงคลองบางกอกน้อย ซึ่งเป็นที่สุดกำแพงกรุงธนบุรีสมัยนั้น ด้านทิศเหนือกำแพงเมืองเรียกบริเวณนั้นว่า ตำบลบ้านปูน  ตำบลสวนมังคุด  และตำบลสวนลิ้นจี่  บ้านปูนเป็นที่พำนักของพระองค์เจ้าขุนเนร พระอนุชาต่างพระชนนีของพระยาสุริยอภัย (กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข) ปัจจุบันคือซอยวัดระฆังโฆสิตาราม  ตำบลสวนมังคุด เหนือบ้านปูนเป็นที่พำนักของ  สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี พระพี่นางพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกตำบลสวนลิ้นจี่เป็นที่พำนักของพระยาสุริยอภัย พระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี เป็น  ๓ ตำบล ด้านเหนือของคลองมอญขึ้นไปติดบ้านพระยาธรรมา (บุญรอด บุญยรัตพันธุ์) ซึ่งเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช ในรัชกาลที่ ๑ มีความปรากฏอยู่ในหนังสือตำนานวังเก่า  หน้า  ๑๘  ว่า  ...เหนือคลองมอญขึ้นไปถึงบ้านเสนาบดี คือบ้านพระยาศรีธรรมา (บุญรอด   บุญยรัตพันธุ์) ซึ่งเป็นบ้านเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช  ในรัชกาลที่ ๑ แล้วถึงพระนิเวศน์สถานพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งอยู่ในบริเวณที่ตั้งกองเรือลำน้ำ ขณะนี้ต่อมาขยายพระนิเวศน์สถานขึ้นไปถึงอู่กำปั่นซึ่งอยู่ติดกับเขตวัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) ครั้นเมื่อ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ขึ้นเสวยราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ (๖ เมษายน ๒๓๒๕) ได้ทรงโปรดให้สร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นใหม่ฝั่งพระนคร  และได้เสด็จไปประทับที่พระมหาราชวังใหม่ พระนิเวศน์นี้จึงเรียกว่า "จวนเดิม" และโปรดพระราชทานให้เป็นวังของ  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เพราะอยู่ใกล้และอยู่ตรงข้ามกับวังหลวงนับว่าเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง  ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้าอิศรสุนทร เสด็จไปประทับที่พระราชวังเดิม  แล้วโปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ (พระบัณฑูรน้อย)  เสด็จมาประทับ  ณ  พระนิเวศน์นี้ต่อมาจนตลอดรัชกาลที่ ๑  เมื่อทรงได้รับอุปราชาภิเษกเป็น  กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์) ในรัชกาลที่ ๒ และ ได้เสด็จไปประทับ  ณ พระราชวังบวรสถานมงคล  พระนิเวศน์จึงได้ว่างลง  จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าประยงค์กรมขุนธิเบศร์บวร  ซึ่งเป็นพระโอรสของ กรมพระราชวังบวรฯ ไปประทับอยู่จนสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.๒๔๐๐ ตรงกับรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานพระนิเวศน์ให้แก่ พระองค์เจ้ายุคันธรกรมหมื่นอนันตการฤทธิ์ พระราชโอรสในกรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ ๒ เสด็จไปประทับจนถึง  พ.ศ.๒๔๒๓ พระองค์เจ้ายุคันธรกรมหมื่นอนันตการฤทธิ์ สิ้นพระชนม์ลงในรัชกาลที่ ๕   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้พระราชทานพระนิเวศน์ให้เจ้านายพระองค์ใดประทับอยู่อีกต่อไป  แต่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานให้เป็นที่ทำการสำหรับกรมทหารเรือ พ.ศ.๒๔๒๖ และสร้างโรงงานกรมอู่หลวงขึ้น ในปี พ.ศ.๒๔๕๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนฐานะกรมทหารเรือเป็นกระทรวงทหารเรือ มีผู้กำกับราชการ และเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ดังนี้
                         ๑. จอมพลเรือ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุขเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ผู้กำกับราชการกระทรวงทหารเรือ (๑๙ มิ.ย.๒๔๖๓ ถึง ๓๑ ส.ค.๒๔๖๕)
                         ๒.นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์) ทำการแทนเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ (๑๓ ต.ค.๒๔๖๕ ถึง ๓๑ มี.ค.๒๔๖๖)เป็นเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ  (๑ เม.ย.๒๔๖๖ ถึง ๑๙ พ.ค.๒๔๖๖)
                         ๓. นายพลเรือเอก  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธกรมหลวงนครราชสี  กำกับราชการกระทรวงทหารเรือ (๑ ก.ค.๒๔๖๖ ถึง ๓๑ มี.ค.๒๔๖๗) เป็นผู้สำเร็จราชการกระทรวงทหารเรือ (๑ เม.ย.๒๔๖๗ ถึง ๘ ก.พ.๒๔๖๘)
                         ๔. นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ เป็นเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ (๑๓ ก.พ.๒๔๖๘ ถึง ๗ พ.ย.๒๔๗๔
ในปี พ.ศ.๒๔๗๔   เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยุบกระทรวงทหารเรือไปรวมกับทหารบก  ตั้งเป็นกระทรวงกลาโหมขึ้น ในปี  พ.ศ.๒๔๗๖  ได้เปลี่ยนชื่อกรมทหารเรือเป็นกองทัพเรือ  มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือต่อมา คือ 
                              - นายพลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ์ (วัน จารุภา) ผู้บัญชาการทหารเรือ (๖ ก.๒๔๗๕ ถึง ๔ ส.ค.๒๔๗๖) 
                              - นายนาวาเอก พระยาวิชิตชลธี (ทองดี  สุวรรณพฤกษ์) ผู้บัญชาการทหารเรือ (๕ ส.ค.๒๔๗๖ ถึง ๑๕ ธ.ค.๒๔๗๖)
                              - นายพลเรือเอก สินธุ์  กมลนาวิน  รักษาราชการตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ (๑๑ ม.ค.๒๔๗๖ ถึง ๑ พ.ค.๒๔๗๗) เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ (๒๔ ต.ค.๒๔๘๑ ถึง ๑ ก.ค.๒๔๙๔) ในปี พ.ศ.๒๔๙๒  พลเรือเอก สินธุ์  กมลนาวิน  ผู้บัญชาการทหารเรือขณะนั้น เห็นสภาวะที่ทำการกองทัพเรือชำรุดทรุดโทรมมาก ทั้งคับแคบ ไม่เหมาะสมแก่การเป็นศูนย์การบังคับบัญชา จึงดำริย้ายที่ทำการกองทัพเรือไปอยู่บริเวณพระราชวังเดิม   กรุงธนบุรี  เมื่อ ๑ กรกฎาคม ๒๔๙๓  พระนิเวศน์จึงว่างลงในปี ๒๔๙๔ ได้มีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกองทัพเรือพุทธศักราช ๒๔๙๔ ให้ดำเนินการย้ายกองเรือรบจากที่ตั้งเดิมอยู่ที่ กองเรือกล (ที่ตั้งกรมกิจการพลเรือนทหารเรือปัจจุบัน) ไปอยู่ในพื้นที่สัตหีบและเปลี่ยนชื่อจากกองเรือรบ เป็นกองเรือยุทธการส่วนที่ตั้งกองบัญชาการครั้งแรกตั้งอยู่ที่พระนิเวศน์ ต่อมาได้ย้ายกองบัญชาการไปอยู่พื้นที่สัตหีบ ในปี พ.ศ.๒๕๑๙ กองเรือยุทธการ ระหว่างที่ตั้งกองบัญชาการอยู่ที่พระนิเวศน์มี ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ดังนี้
๑. นาวาเอก หลวงนาวาวิจิต (ผัน  นาวาวิจิต)  ๕ พ.ค.๒๔๘๒ ถึง ๒ ก.ค.๒๔๙๔
๒. พลเรือตรีหลวงชำนาญอรรถยุทธ์ (เอื้อน  กลไกรเวส)  ๑ ต.ค.๒๔๙๔ ถึง ๓๐ ก.ย.๒๕๐๕
๓. พลเรือโท อนันต์  เนตรโรจน์   ๑ ต.ค.๒๕๐๕ ถึง ๓๐ ก.ย.๒๕๐๖
๔. พลเรือโท ศิริ   กระจ่างเนตร์  ๑ ต.ค.๒๕๐๖ ถึง ๑๓ มิ.ย.๒๕๐๙
๕. พลเรือโท  นัย  นพคุณ  ๑๔ มิ.ย.๒๕๐๙ ถึง ๓๐ ก.ย.๒๕๑๒
๖. พลเรือโท เฉิดชาย   ถมยา  ๑ ต.ค.๒๕๑๒ ถึง ๓๐ ก.ย.๒๕๑๕
๗. พลเรือเอก สงัด ชลออยู่  ๑ ต.ค.๒๕๑๕ ถึง ๓๐ ก.ย.๒๕๑๖
๘. พลเรือเอก กวี  สิงหะ  ๑ ต.ค.๒๕๑๖ ถึง ๑๘ พ.ย.๒๕๑๖
๙. พลเรือโท จริง  จุลละสุขุม  ๑๙ พ.ย.๒๕๑๖ ถึง ๓๐ ก.ย.๒๕๑๙
               ๑๐. พลเรือโท สถาปน์  เกยานนท์  ๑ ต.ค.๒๕๑๙ ถีง ๓๐ ก.ย. ๒๕๒๑
 
 
 
 
ในปี พ.ศ.๒๕๑๖  กรมอู่ ทร.ได้ย้ายหน่วยงานของกรมอู่ที่ยังใช้อาคารบางส่วนด้านทิศเหนือ ของพระนิเวศน์ออกไปและในปีเดียวกันนี้ได้จัดตั้ง  กองเรือลำน้ำขึ้น และใช้อาคารด้านเหนือของพระนิเวศน์เป็นที่ทำการกองบัญชาการ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙  กองเรือยุทธการ ได้ย้ายกองบัญชาการไปตั้งในพื้นที่สัตหีบ อาคารพระนิเวศน์ทั้งหมดจึงเป็นที่ตั้งกองเรือลำน้ำมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับกำแพงที่มีใบเสมานั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างหมายไว้เป็นสำคัญว่า เคยเป็นพระราชวังมาก่อน พระนิเวศนแห่งนี้เป็นที่สำคัญแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย เพราะได้เคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเจ้านายเป็นลำดับมาถึง ๕ พระองค์ คือ
๑. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
๒. พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์พระบัณฑูรน้อยในรัชกาลที่ ๑
๔. พระองค์เจ้าประยงค์กรมขุนธิเบศรบวร พระโอรสพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
๕. พระองค์เจ้ายุคันธร กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์  พระโอรสกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ 
 
 
                      แนวกำแพงใบเสมาของพระนิเวศน์นั้นขณะนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของผนังอาคารต่างๆ ไปเกือบหมดแล้ว แต่ก็พอจะรู้ได้สำหรับแนวกำแพงด้านหน้าหรือด้านริมน้ำ กับแนวกำแพงด้านข้างบางส่วน  สำหรับแนวกำแพงด้านหลังนั้น  น่าจะอยู่หลังอาคาร ๓  ของ กองเรือลำน้ำขณะนี้นั่นเอง  เพราะปรากฏความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขา ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉบับที่ ๓๔  ที่ได้ทรงมีถึงกรมหมื่นอมรมนตรี  (ฉบับรวมครั้งที่ ๔)  โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โรงพิมพ์โสภณพิพรรธนากร  ๑๔๖๙ หน้า ๑๐๑  โดยกล่าวถึงที่ตั้งของวัดวงศมูลวิหารว่าอยู่หลังพระราชวัง    ปัจจุบันมีแต่โบสถ์เพียงหลังเดียวอยู่บริเวณท้ายอู่แห้งหมายเลข ๒ กรมอู่ทหารเรือ   ซึ่งตามที่ตั้งของวัดนี้อยู่ด้านหลังกำแพงพระนิเวศน์
            บรรณานุกรม
- ประชุมพงศาวดาร ตอนที่ ๒๖ เรื่อง ตำนานวังเก่าในกรุงเทพฯ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)
- สาระน่ารู้กรุงธนบุรี (นาวาอากาศเอก อาวุธ  เงินชูกลิ่น)
- พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (วุฒิชัย   มูลศิลป์ และ  คณะ)
- ๑๐๐ ปี  กรมอู่ทหารเรือ
- กองประวัติศาสตร์กรมยุทธการทหารเรือ
- ประวัติกองเรือยุทธการ
 
__________________________________________________________________________________________